Last updated: 11 ก.พ. 2563 | 8227 จำนวนผู้เข้าชม |
เยื่อเมือกในช่องปาก (Oral Mucosa) คือ "ผิวหนัง" ภายในปากและครอบคลุมช่องปากส่วนใหญ่นอกเหนือไปจากฟัน ..หน้าที่ของเยื่อเมือกในช่องปาก.... มีหลายหน้าที่ แต่โดยเมนแล้วคือการปกป้องเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกเข้าไปข้างใน เช่น เนื้อเยื่อไขมัน, เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ, เนื้อเยื่อเส้นประสาทและหลอดเลือดต่างๆ จากสิ่งแวดล้อมและปัจจัยเชิงกลภายนอกที่เข้ามากระทบจากการใช้งานในแต่ละวัน เช่น แรงกระแทกและแรงเสียดสีจากการบดเคี้ยว เป็นต้น และยังปกป้องจากการรุกรานของเชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่ก่อให้เกิดโรค ( Pathogens ) และสารพิษต่างๆ ที่สามารถเข้าไปทำอันตรายและก่อให้เกิดพยาธิสภาพในแต่ละระบบของร่างกายที่เกี่ยวเนื่อง
มีเส้นประสาทมากมายเข้ามาหล่อเลี้ยงภายในเยื่อเมือกช่องปาก จึงสามารถทำให้ในช่องปากของเราสามารถรับรู้สัมผัส ร้อน - เย็น ได้เป็นอย่างดี ตุ่มรับรสกระจายอยู่ไม่เพียงแต่เฉพาะบนลิ้นเท่านั้น แต่ยังกระจายอยู่บริเวณเพดานปากและตามตำแหน่งอื่นๆของเยื่อเมือกช่องปากโดยทั่วไป เพื่อทำให้เกิดการรับรสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังประกอบไปด้วยต่อมน้ำลายต่างๆ ที่ทำหน้าที่หลั่งน้ำลายเพื่อหล่อเลี้ยงผิวเยื่อเมือกให้ชุ่มชื้น และในขณะเคี้ยวอาหาร เอ็นไซม์บางชนิดที่อยู่ในน้ำลายก็สามารถทำหน้าที่ย่อยแป้งได้ในเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นด่านแรกของระบบย่อยอาหาร ในร่างกายมนุษย์และสัตว์
คุณสมบัติหนึ่งของเยื่อเมือกในช่องปาก คือการยอมให้สารต่างๆสามารถซึมผ่านได้ ซึ่งข้อดีอันนี้ทำให้คนไข้ที่เป็นเบาหวานและมีภาวะน้ำตาลต่ำ สามารถที่จะดูดซึมเครื่องดื่มที่ประกอบไปด้วยน้ำตาล เช้น น้ำส้ม หรือน้ำผลไม้ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วในภาวะเร่งด่วนทางอายุรศาสตร์
องค์ประกอบทางโครงสร้างของเยื่อเมือกในช่องปากนั้น ประกอบไปด้วย ๒ ชั้นหลักๆ คือ The Corium (หรือ Lamina Propria) และ Epithelium ..เนื้อเยื่อในชั้น Epithelium นั้นเป็นชั้นนอกสุดของเยื่อเมือกในช่องปาก และเป็นชั้นที่เกิดโรคได้ง่ายที่สุดและบ่อยที่สุด ตามลักษณะการใช้งานและโครงสร้าง ....ถือเป็นผิวสัมผัสแรกสุดที่ต้องเผชิญต่อสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน ( ขณะทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มต่างๆ สูบบุหรี่ และการแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีองค์ประกอบของสารซักล้าง Chemical Detergents ที่รุนแรงและระคายเคืองต่อผิวเยื่อเมือก ..Oral Mucosal Barrier )
การค้นพบล่าสุดนำไปสู่ความจริงที่ว่า เนื้อเยื่อในช่องปากไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ในการปกป้องอันตรายจากสิ่งแวดล้อมเชิงกลและสารเคมี แต่ยังสามารถทำหน้าที่ปกป้องตัวเองและอวัยวะข้างเคียงในช่องปาก เช่น ฟัน ด้วยกลไกภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในตัวเอง กับสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก ( Potent Antimicrobial Peptides, Lipid Epidermal and Oral Microbiome - Oral Innate Immunity ) การระคายเคือง และการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลไกการปกป้องเหล่านี้สูญเสียไป และนำไปสู่การอักเสบ ติดเชื้อ กลิ่นปาก ฟันผุ โรคเหงือก-โรคปริทันต์ และโรคทางระบบที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ตามมาแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ
Reference from: References
Nanci A. Ten Cate’s Oral Histology: Development, Structure, and Function (6th edition). St Louis: Mosby, 2003.
Field A, Longman L. Tyldesley’s Oral Medicine (5th edition). Oxford: Oxford University Press, 2003.
Dowden J (ed). Therapeutic Guidelines: Oral and Dental (1st edition). North Melbourne: Therapeutic Guidelines Limited, 2007.
3 มี.ค. 2562
23 ม.ค. 2563