บทบาทของน้ำผึ้งแท้ 100% กับสุขภาพในช่องปากและฟัน

Last updated: 11 ก.พ. 2563  |  6115 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทบาทของน้ำผึ้งแท้ 100% กับสุขภาพในช่องปากและฟัน

  • น้ำผึ้งแท้ที่ไม่ผ่านการเติมแต่ง จะสามารถยับยั้งการสูญเสียแร่ธาตุ และมีคุณสมบัติในการป้องกันฟันผุเมื่อเทียบกับน้ำตาลชนิดต่างๆ อย่าง กลูโคส ฟรุคโตส และซูโครส อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดฟันผุได้ เช่น Strep. Mutans, Lactobacillus Salivarius และ Bifidobacterium Dentium

 

 (ปี 2011) ได้ทำการศึกษาผลกระทบของน้ำผึ้งต่อการสูญเสียแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันโดยเปรียบเทียบกับน้ำตาลกลูโคสและฟรุคโตส พบว่าน้ำผึ้งสามารถลดการเกิดฟันผุได้ เมื่อเทียบกับน้ำตาลชนิดอื่นๆ

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในประเทศอิหร่าน (ปี 2011) ได้ทำการศึกษาผลกระทบของน้ำผึ้งต่อการสูญเสียแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันโดยเปรียบเทียบกับน้ำตาลกลูโคสและฟรุคโตส การทดลองทำในระดับ vitro (ศึกษานอกตัว ในสิ่งแวดล้อมที่ควบคุม) โดยใช้ตัวอย่างฟันกราม (premolar) ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ผุ เป็นจำนวน 36 ซี่ แบ่งออกเป็นสามกลุ่มอย่างสุ่ม แต่ละกลุ่มถูกนำไปเก็บไว้ในหลอดที่บรรจุสารละลายชนิดต่างๆคือ น้ำผึ้ง ฟรุคโตส และกลูโคส ในสภาวะที่มีอาหารเลี้ยงเชื้อ โดยสารละลายดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนทุกวันเป็นเวลา 21 วันแล้วนำตัวอย่างฟันมาตรวจดูระดับความลึกของการสูญเสียเคลือบฟันด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดโพลาไรซ์ และได้พบว่าน้ำผึ้งสามารถลดการเกิดฟันผุเมื่อเทียบกับน้ำตาลชนิดอื่นๆ งานวิจัยชิ้นนี้ได้แนะข้อจำกัดของการวิจัยว่าไม่สามารถสรุปเพื่อใช้ในระดับวงกว้างได้ (generalizability)

เมื่อเราทราบดีว่าสารให้ความหวานคือตัวการที่ทำให้เกิดฟันผุ การเลือกใช้น้ำผึ้งแทนน้ำตาลอื่นๆจึงเป็นทางเลือกที่ดีให้แก่เด็กๆ เพราะกลูโคสและฟรุคโตสสามารถก่อให้เกิดฟันผุได้น้อยกว่าน้ำตาลซูโครส แต่น้ำผึ้งกลับก่อให้เกิดฟันผุได้น้อยกว่ากลูโคสและฟรุคโตสเสียอีก

 

 และในปี(2014) ได้มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งศึกษาผลกระทบของน้ำผึ้งที่มีต่อการป้องกันโรคเหงือกอักเสบและฟันผุในผู้ป่วยหญิง ที่เข้ารับการจัดฟันในประเทศอียิปต์เป็นจำนวน 20 คน อายุระหว่าง 12-18 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการเคี้ยวน้ำผึ้ง ที่มีผลต่อการก่อตัวของคราบจุลินทรีย์ ด้วยการวัดระดับค่าความเป็นกรด (pH) ภายในช่องปาก

โดยในการทดลอง จะทำการเปรียบเทียบผลกระทบของการเคี้ยวน้ำผึ้งแท้ (ไม่มีการเจือจาง) 10 กรัม เป็นเวลา 2 นาที เทียบกับการกลั้วปากด้วย ซูโครส10% หรือ ซอร์บิทอล(สารให้ความหวานที่เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์)10%  ในปริมาณ 15 มิลลิลิตร เป็นเวลา 1 นาที ซึ่งตัวอย่างคราบจุลินทรีย์ จะถูกเก็บหลังจากนั้นที่เวลา 2, 5,10, 20 และ 30 นาทีตามลำดับ พร้อมกับวัดค่าความเป็นกรด (pH) ภายในช่องปาก ซึ่งผลการทดลองพบว่า มีความแตกต่างในค่า pH ระหว่าง น้ำผึ้งกับซูโครส แต่ไม่พบความแตกต่างเมื่อเทียบกับซอร์บิทอล 

 

 (หากค่า pH ในช่องปากลดลงถึงระดับวิกฤต คือน้อยกว่า 5.2-5.5 จะทำให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุของผิวเคลือบฟัน หลังจากนั้นค่า pH จะค่อยๆเพิ่มขึ้นช้าๆจนกระทั่งถึงค่า pH เริ่มแรกและเกิดการสะสมกลับของแร่ธาตุที่ผิวเคลือบฟันดังเดิม)

  • ค่า pH ของน้ำผึ้งและซูโครสจะลดลงสูงสุดในนาทีที่ 5  โดยน้ำผึ้งจะเกิดการฟื้นค่า pH ในนาทีที่ 20
  • ส่วนระดับค่าวิกฤต (pH 5.5) ไม่เกิดกับน้ำผึ้งและซอร์บิทอล ยกเว้นซูโครส ที่เกิดค่า pH ต่ำกว่าค่าวิกฤต และฟื้นค่า pH ในนาทีที่ 30
  • สำหรับซอร์บิทอล ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของค่า pH ตลอดทั้งการทดลอง

จึงได้ผลสรุปว่า การเคี้ยวน้ำผึ้งไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุของผิวเคลือบฟัน เมื่อเทียบกับซูโครส เนื่องจากน้ำผึ้งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการสูญเสียแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันได้ อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรีย Strep. Mutans, Lactobacillus Salivarius and Bifidobacterium Dentium ในช่องปาก ที่เป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดฟันผุ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

1. Ahmadi-Motamayel, F., Rezaei-Soufi, L., Kiani, L., Alikhani, M. Y., Poorolajal, J., & Moghadam, M. (2013). Effects of honey, glucose, and fructose on the enamel demineralization dept [Electronic version]. Journal of Dental Sciences, 8, 147-150.

2. Atwa, A. A., AbuShahba, R. Y., Mostafa, M., & Hashem, M. I. (2014). Effect of honey in preventing gingivitis and dental caries in patient undergoing orthodontic treatment [Electronic version]. The Saudi Dental Journal, 26, 108-114.

3. ทันตกรรมป้องกันในงานทันตกรรมสำหรับเด็ก (ออนไลน์). สืบค้นจาก http://www.dent.cmu.ac.th/thai/pedo/elearning/DPED481/e-book_dped481_prevent.pdf [18 สิงหาคม 2557]

อ้างอิง : 

- A REVIEW: DOES HONEY HAVE ROLE IN DENTISTRY?

RichaWadhawan, GauravSolanki, AditiPareek, RuchikaDhankar.

- A Review on the Protective Effects of Honey against Metabolic Syndrome

- Honey: A Natural Remedy in Dental and Oral Diseases

Sarim Ahmad, Seema Sharma, Shamim Ahmad
Department of Oral Pathology and Microbiology, Santosh Dental College, Ghaziabad, Microbiology Section, Institute of Ophthalmology, JN Medical College, Faculty of Medicine, Aligarh Muslim University, Aligarh, India.

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้